ขอบข่ายของมาตรฐาน

1. มาตรฐานนี้ได้กำหนดวิธีการคำนวณค่าของแรงลมและผลกระทบในรูปแบบต่าง ๆ ของลมที่มีต่ออาคาร เพื่อใช้ในการออกแบบระบบโครงสร้างหลักของอาคาร องค์อาคาร และส่วนประกอบอื่น ๆ ของอาคาร เช่น ผนังภายนอกอาคาร หลังคา เป็นต้น

2. ข้อกำหนดต่าง ๆ ในมาตรฐานนี้ เป็นข้อกำหนดในขั้นต่ำสุดที่จำเป็นต่อการออกแบบอาคาร เพื่อให้อาคารมีความปลอดภัย และเพื่อจำกัดผลกระทบในรูปแบบต่าง ๆ ของลมที่มีต่ออาคารให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ตามเกณฑ์มาตรฐานสากล

3. มาตรฐานการคำนวณ สามารถนำไปใช้ในการออกแบบอาคารทั่วไป ตั้งแต่ อาคารเตี้ยจนถึงอาคารสูงที่มีรูปทรงปรกติ แต่มาตรฐานไม่ครอบคลุมถึงการออกแบบอาคารที่มีลักษณะพิเศษ หรือโครงสร้างอื่น ๆ ที่อาจมีการตอบสนองต่อแรงลมรุนแรงกว่าปรกติ เช่น ปล่องควันที่มีความชะลูดสูง สะพานช่วงยาว ฯลฯ ซึ่งต้องใช้การทดสอบในอุโมงค์ลม

4. มาตรฐานการคำนวณ ไม่ได้ครอบคลุมสภาพภูมิประเทศที่มีลักษณะพิเศษ ที่อาจทำให้เกิดแรงลมสูงกว่าปรกติ เช่น ช่องลมเฉพาะที่ (Local Channel), ผลของอาคารข้างเคียง ฯลฯ ซึ่งต้องใช้การทดสอบในอุโมงค์ลม

5. มาตรฐานนี้ใช้หน่วย SI (International System Unit)

สรุปเนื้อหาของมาตรฐาน

เพื่อความสะดวกในการศึกษา มยผ.1311-50 ด้วยตนเอง ผู้เขียนจึงสรุปเนื้อหาคร่าว ๆ ว่าแต่ละบทของ มยผ. ประกอบด้วยอะไรบ้าง โดยมาตรฐานฉบับนี้ได้แบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ส่วนหลัก ๆ ดังต่อไปนี้

ส่วนที่ 1 มาตรฐานและการคำนวณแรงลมและการตอบสนองของอาคาร
ประกอบด้วยเนื้อหา 5 บท และภาคผนวก ก-ค ดังนี้

บทที่ 1   ทั่วไป

เสมือนบทนำของหนังสือซึ่งจะกำหนดขอบข่าย หลักการพิจารณาออกแบบ วิธีการคำนวณแรงลมร่วมกับน้ำหนักบรรทุกอื่น ๆ และนิยามศัพท์และสัญลักษณ์ต่าง ๆ

บทที่ 2   การคำนวณแรงลมสถิตเทียบเท่าด้วยวิธีการอย่างง่าย

บทนี้กล่าวถึงวิธีการคำนวณตัวแปรต่าง ๆ ด้วยวิธีอย่างง่าย ซึ่งสามารถใช้ได้กับอาคารสูงไม่เกิน 80 เมตร และมีความสูงไม่เกิน 3 เท่าของความกว้างประสิทธิผลน้อยสุด นอกจากนี้วิธีการคำนวณอย่างง่ายยังสามารถใช้กับผนังภายนอกอาคาร (Cladding) ได้ทุกประเภท ไม่จำกัดความสูง

โดยในการคำนวณอย่างง่ายนี้จะคำนวณเฉพาะแรงลมสถิตเทียบเท่าในทิศทางลม เท่านั้น การรวมแรงลมกระทำต่ออาคารจะไม่มีการคำนวณแรงลมสถิตเทียบเท่าในทิศทางตั้งฉากลม และโมเมนต์บิด แต่จะใช้การแปลงแรงในทิศทางลมให้เป็นโมเมนต์บิดแทน

บทที่ 3   การคำนวณแรงลมสถิตเทียบเท่า และการตอบสนองในทิศทางลม โดยวิธีอย่างละเอียด

ในบทนี้จะกล่าวถึงการคำนวณแรงลมโดยละเอียด ซึ่งใช้สำหรับอาคารที่มีความสูงเกิน 80 เมตร หรือมีความสูงเกิน 3 เท่าของความกว้างประสิทธิผล และยังใช้กับอาคารที่สั่นไหวง่าย เช่น อาคารที่มีน้ำหนักเบาและมีความถี่ธรรมชาติต่ำ และมีคุณสมบัติความหน่วงต่ำ

แต่ทั้งนี้ ในบทที่ 3 จะกล่าวถึงเฉพาะการคำนวณแรงสถิตเทียบเท่าในทิศทางลมเท่านั้น หากอาคารมีอัตราส่วน $H/\sqrt(WD)$ ไม่เกิน 3 จะสามารถใช้การรวมแรงลมตามวิธีในบทที่ 2 ได้ โดยไม่ต้องคำนวณแรงสถิตเทียบเท่าในทิศทางตั้งฉากกับลมและโมเมนต์สถิตเทียบเท่า แต่หากอัตราส่วน $H/\sqrt(WD)$เกิน 3 นั้นจะต้องคำนวณค่าดังกล่าว และใช้วิธีรวมแรงลมที่ต่างออกไปโดยจะถูกกล่าวถึงในบทที่ 4 ของ มยผ.

บทที่ 4   การคำนวณแรงลมสถิตเทียบเท่า และการตอบสนองในทิศทางตั้งฉากกับทิศทางลม และโมเมนต์สถิตเทียบเท่า

เนื้อหาบทนี้จะต่อเนื่องจากบทที่ 3 นั้นคือการคำนวณแรงสถิตเทียบเท่าในทิศทางตั้งฉากกับลมและโมเมนต์บิดสถิตเทียบเท่า และการรวมแรงลม สำหรับอาคารสูงเกิน 80 เมตร หรือมีความสูงเกิน 3 เท่าของความกว้างประสิทธิผล และมีอัตราส่วน $H/\sqrt(WD)$ มากกว่า 3 แต่ไม่เกิน 6

หากอาคารไม่ตรงกับข้อกำหนดดังกล่าว ให้ใช้การทดสอบในอุโมงค์ลม ซึ่งจะกล่าวถึงในบทที่ 5 ของ มยผ.

บทที่ 5   การทดสอบในอุโมงค์ลม

บทนี้จะอธิบายเนื้อหาคร่าวๆ ของการทดสอบในอุโมงค์ลม ซึ่งจะใช้ต่อเมื่ออาคารหรือโครงสร้างมีความอ่อนไหวต่อแรงลมเป็นพิเศษ, ไม่เข้าข่ายตามข้อกำหนดในบทที่ 1 และเกินขอบเขตที่ระบุไว้ในบทที่ 2-4 ของ มยผ. และการทดสอบในอุโมงค์ลมสามารถใช้แทนการคำนวณอย่างง่ายและอย่างละเอียดได้อีกด้วย

ภาคผนวก ก. แผนที่ความเร็วลมอ้างอิ

ระบุความเร็วลมอ้างอิงบริเวณต่าง ๆ ของประเทศไทย ที่ต้องใช้ในการคำนวณ

ภาคผนวก ข. แผนภูมิแสดงค่าสัมประสิทธิ์ของหน่วยแรงลม

ค่าสัมประสิทธิ์แรงลมจะถูกแบ่งเป็น 3 หมวดที่ใช้วิธีคำนวณที่แตกต่างกัน ได้แก่ อาคารเตี้ย, อาคารสูง และ โครงสร้างพิเศษ ซึ่งเนื้อหาโดยละเอียดจะกล่าวถึงในหัวข้อต่อ ๆ ไป

ภาคผนวก ค. แรงลมออกแบบสำหรับอาคารเตี้ย

วิธีการคำนวณแรงลมสำหรับอาคารเตี้ยสามารถใช้ตารางสำเร็จรูปช่วยในการคำนวณได้ โดยภาคผนวกนี้คือตารางช่วยคำนวณแรงลมสำหรับอาคารเตี้ยนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีตารางช่วยคำนวณโครงสร้างรอง (เช่น Purlin และ Façade) ที่แตกต่างจากโครงสร้างหลักอยู่ในภาคผนวกนี้อีกด้วย

ส่วนที่ 2 คำอธิบายมาตรฐาน

เป็นการอธิบายแนวคิด และงานวิจัยต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่มาของค่าและวิธีการคำนวณต่าง ๆ ในแต่ละบทของ มยผ.

ส่วนที่ 3 ตัวอย่างการคำนวณแรงลมและการตอบสนอง

ประกอบไปด้วยตัวอย่างการคำนวณแรงลมสำหรับอาคารเตี้ยด้วยวิธีอยางง่าย, อาคารสูงปานกลางด้วยวิธีอย่างง่าย, อาคารสูงด้วยวิธีอย่างละเอียด และโครงสร้างพิเศษ (ป้ายและปล่องควัน)

By EkarajP

You missed